วัดกลางบางแก้ว
อะ สัง วิ สุโล ปุ สะ พุภะ พุทธะ สังมิ อิสวา สุ
ประวัติหลวงปู่บุญ
ประวัติหลวงปู่บุญ

หลวงปู่บุญ เกิดที่ ตำบลบ้านนางสาว อำเภอตลาดใหม่ เมืองนครชัยศรี มณฑลนครชัยศรี ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นบ้านตำบลท่าไม้ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ส่วนในปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นตำบลท่าไม้ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก จุลศักราช ๑๒๑๐ สัมฤทธิ์ศก เวลาใกล้รุ่ง ตรงกับวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๙๑ อันเป็นปีที่ ๒๕ แห่งแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ ๓ ) บิดาชื่อเส็ง มารดาชื่อลิ้ม หลวงปู่มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๖ คน ท่านเป็นบุตรชายหัวปี มีน้องชาย และน้องสาว ๖ คน คือ นางเอม นางบาง นางจัน นายปาน และนางคง

พระวินัยกิจโกศล ( ตรี ปธ.๗ ) อดีตเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร ได้บันทึกไว้ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ในหนังสือ “บุญวิธี ” ว่า

“ เมื่อยังเยาว์เป็นไข้หนักถึงแก่สลบไม่หายใจ พวกผู้ใหญ่เข้าใจว่าตายเสียแล้ว ระหว่างที่จัดแจงจะเอาไปฝังกันได้กลับฟื้นขึ้นมา จึงได้รับการรักษาพยาบาลต่อมาจนหายเป็นปกติ บิดามารดาได้ถือเอาเรื่องหายจากไข้ ครั้งนั้นเป็นนิมิตดี จึงให้ชื่อว่า “ บุญ ” ”

ใน สมัยที่หลวงปู่บุญยังเยาว์วัยอยู่ บิดามารดาได้ย้ายบ้านจากบ้านตำบลนางสาวไปอยู่ที่ตำบลบางช้างประกอบอาชีพทาง ทำนา ต่อมาบิดาท่าน ได้เสียชีวิตลงเมื่ออายุท่านได้ ๑๓ ปี ป้าของท่านซึ่งมีความคุ้นเคยกันดีกับท่านปลัดทอง วัดคงคาราม จึงพาท่านไปฝากให้ศึกษาเล่าเรียนกับพระปลัดทอง วัดคงคาราม ( วัดกลางบางแก้ว ) เมื่อท่านปลัดทองมองเห็นบุคลิกลักษณะของท่านก็หยั่งรู้ได้ทันทีว่าเป็นผู้มี บุญสมชื่อ และมีความสามารถที่จะศึกษา ได้กระจ่างแจ้งทำความเจริญให้กับพระพุทธศาสนาต่อไป จึงได้ขอท่านกับโยมป้าว่าขอให้อยู่กับท่านปลัดทองตลอดไป

หลัง จากนั้นท่านปลัดทองจึงได้สั่งสอนพื้นทางคัมภีร์มูลบทสรรพกิจสนธิมูลกัจจายน์ ภาษาไทย และขอมให้จนหลวงปู่บุญมีความเชี่ยวชาญชำนาญดี เพราะมีปัญญาไวเรียนสิ่งใดก็รู้แจ้งแท้ตลอดในเวลาอันรวดเร็ว

จน อายุได้ ๑๕ ปี ก็สามารถท่องบทสวดมนต์ได้มากมาย ท่านปลัดทองจึงได้บรรพชา ให้เป็นสามเณร เพื่อศึกษาคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ ซึ่งท่านปลัดทองก็พยายามฝึกฝนจนหลวงปู่บุญมีความคล่องแคล่ว จนอายุท่านได้ ๑๙ ปี ก็เกิดเจ็บป่วยหนัก รักษาเท่าใดก็ไม่หาย ท่านปลัดทองจึงได้ตรวจชะตาของท่านดูก็ทราบว่าเป็นอย่างไร จึงได้บอกหลวงปู่บุญ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นเณรบุญว่า จะต้องลาสึกจากสามเณรเสียก่อน แล้วกลับไปรักษาตัวกับมารดา เมื่ออายุครบด้วย ๒๒ ปี โรคาจะหายจึงจะมาอุปสมบทต่อไปได้ เล่าว่าครั้งนั้นสามเณรบุญถึงกับน้ำตาไหล เพราะจิตใจฝากฝังไว้ในเพศบรรพชิตเป็นมั่งคงแล้ว มิอยากจะลาไป แต่ก็มั่นใจเรื่องในท่านอาจารย์ปลัดทองที่ได้พยากรณ์เอาไว้ว่าจะกลับมา

ท่าน จึงได้ครองฆราวาสรักษาร่างกายจนกว่าจะหายเป็นปกติดี ก็อายุ ๒๒ ปี ตรงตามคำพยากรณ์ของท่านปลัดทอง นับว่าท่านปลัดทององค์นี้ มีปรีชาทางญาณหยั่งรู้สึกซึ้งมาก เสียดายที่มิอาจเขียนประวัติท่านได้ เรื่องราวของท่านผู้ที่รู้เสียชีวิตไปหมดแล้ว มีเรื่องเล่าว่าท่านปลัดทองนั้นมีอภินิหารมากเรื่องหนึ่ง ควรบันทึกไว้เพราะต่อไปจะสูญหาย คือวัดกลางบางแก้วนั้นอยู่ติดแม่น้ำนครชัยศรี ปีไหน น้ำมากก็ท่วมบริเวณวัดทั้งหมดแต่เมื่อครั้งท่านปลัดทองอยู่ น้ำไม่เคยท่วมวัดให้ได้รับความเสียหายเลย ท่านจะนำทรายมาเสกแล้วให้ลูกศิษย์เอาไปโรยไว้รอบ ๆ วัดเมื่อน้ำเหนือหลากมา ท่านจะเข้าไปนั่งในโบสถ์ ทำการสะกดน้ำ มิให้ไหลเข้ามาท่วมวัดได้ เรื่องนี้ผู้เฒ่าแห่งแม่น้ำนครชัยศรีเล่าให้ฟัง นับว่าบารมีและ กฤตยาคมของท่านปลัดทองนั้นสูงส่งจริง ๆ อีกเรื่องหนึ่งคือ ท่านสามารถระเบิดน้ำลงไปปักเสาศาลาท่าน้ำของวัดได้โดยจีวรไม่เปียก โดยยกเสาได้เพียงองค์เดียวคือทำของหนักให้เบาได้นั่นเอง วิชานี้ภายหลังหลวงพ่อจ้อยวัดบางช้างเหนือได้เสกมีดโยนลอยน้ำได้คงได้วิชา จากท่านปลัดทองเพราะวัดอยู่ไม่ห่างกันมาก และหลวงพ่อจ้อยเป็นพระรุ่นราวคราวเดียวกันกับหลวงปู่บุญ

เมื่ออายุท่านได้ ๒๒ ปี หายจากโรคภัยไข้เจ็บ จึงได้เข้าอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดกลางบางแก้ว ซึ่งท่านเคยบรรพชาเป็นสามเณรมาก่อน และเล่าเรียนวิชามากับพระปลัดทอง เมื่อวันจันทร์ เดือน ๘ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๒๓๑ เวลาบ่าย ตรงกับวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๑๒ โดยมีพระอันดับ ๓๐ รูป พระ ปลัดปาน เจ้าอาวาสวัดตุ๊กตา เป็นอุปัชฌาย์ พระปลัดทอง เจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้ว พระอธิการทรัพย์ วัดงิ้วราย พระครูปริมานุรักษ์ วัดสุประดิษฐาราม และ พระอธิการจับ วัดท่ามอญ ร่วมกันแบ่งภาระหน้าที่ในการให้สรณาคมน์กับศีลและการสวดกรรมวาจา การที่มีพระอาจารย์ร่วมพิธีถึง ๔ องค์ก็ด้วยพระเถระเหล่านี้เป็นที่เคารพนับถือ ของโยม หลวงปู่บุญ จึงต้องนิมนต์ทั้งหมด

เมื่ออุปสมบทแล้วได้ฉายาว่า “ ขนฺธโชติ ”

หลังจากอุปสมบทท่านได้ศึกษาคันถธุระและ วิปัสสนาธุระและพุทธาคมกับ ท่านปลัดทอง และปลัดปาน ผู้เป็นอุปัชฌาย์ของท่าน ปลัดทองและปลัดปานนั้นท่านเป็นสหายกัน เล่ากันว่าเป็นพระที่มีเวทย์วิทยาคมเก่ากล้าทั้งคู่

สำหลับพระปลัดปาน นั้น ท่านพระครูธรรมวิจารณ์ (ชุ่ม) เจ้าอาวาสวัดศรีสุดาราม (วัดชีปะขาว) บางกอกน้อยขณะเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๗ อายุ ๙๗ ปีได้เล่าให้ “ อาจารย์ตรียัมปราย ” ฟังว่า หลวงปู่บุญท่านนั้นได้เล่าเรียนและถ่ายทอดเวทย์วิทยาคมจากพระปลัดปานไว้ได้ ทั้งหมดและศิษย์ของพระปลัดปานอีกองค์หนึ่งคือ พระธรรมปิฎก ( น่วม ) วัดสระเกศกรุงเทพฯ พระปลัดปานวัดตุ๊กตาองค์นี้ ท่านได้สร้างลูกอมไว้ มีความศักดิ์สิทธิ์ทางเมตตามหานิยมมาก มีลักษณะเป็นเม็ดกลมเนื้อแน่นเป็นมันวาวสีชมพูอ่อน หากใครเคยพบหรือมีอยู่จงเก็บไว้ให้ดี เพราะยอดเยี่ยมทางเมตตามาก อภินิหารของท่านปลัดปานมีเรื่องเล่ากันมาว่าท่านมีเมตตาบารมีสูงมากขนาดมี นก กา เหยี่ยว มาอาศัยทำรังอยู่ที่ต้นมะขวิดภายในวัดเต็มไปหมด ถึงเวลาเช้าท่านฉันเสร็จแล้วจะนำอาหารไปให้นกกิน ท่านสามารถเรียกอีกาและเหยี่ยวซึ่งเป็นนกที่ไม่มีความเชื่องได้ง่าย ๆ มาเกาะบนมือแล้วลูบหัวเล่นได้ นอกจากนั้นยังเล่ามาว่า ท่านสำเร็จวิชาทางเรียกเนื้อเรียกปลาคือใช้พระคาถา มหาจินดามณีมนตราคม ได้เชี่ยวชาญเกิดผลศักดิ์สิทธิ์นั้นเอง เพราะท่านสามารถเรียกปลาในคลองบางแก้ว ซึ่งอยู่หน้าวัดให้ขึ้นมาเต็มไปหมดในงานกฐินเพื่อให้ชาวบ้านได้ชมกัน นับว่าท่านเป็นเถราจารย์ที่น่าศึกษามากอีกองค์หนึ่งเสียดายที่คนเก่า ๆ ที่พอจะรู้เรื่องดีได้สูญสิ้นไปหมดแล้ว

ดังนั้นการศึกษาทางด้านวิปัสสนาธุระและ เวทย์วิทยาคมของหลวงปู่บุญนั้น  ท่านจึงได้รับการถ่ายทอดจากท่านปลัดทอง และปลัดปานเป็นหลัก และนับว่าหลวงปู่เป็นผู้ที่มีพรสวรรค์ทางนี้โดยตรง เพราะเล่ากันว่าท่านสามารถทำของได้ศักดิ์สิทธิ์ และเชี่ยวชาญทางวิปัสสนาธุระตั้งแต่อายุยังน้อย เคยแสดงอภินิหารและความแก่กล้าทางวิปัสสนาให้ สมเด็จพระสังฆราช ( แพติสเทวเถระ ) ได้เห็นเมื่อครั้งที่ “ สมเด็จฯ ” ยังเป็น พระพรหมมุนี ซึ่งทรงยกย่องโปรดปรานหลวงปู่เป็นพิเศษในฐานะเพื่อนสนิท

ส่วนเรื่องการธุดงควัตรนั้นจากการสืบเรื่อง ราวโดยละเอียดแล้ว ปรากฏว่าในชีวิตของหลวงปู่เคยออกธุดงควัตรหลายครั้ง ครั้งละนาน ๆ จนมีความชำนาญ เมื่อพระภายในวัดและละแวกวัดใกล้เคียงในสมัยนั้น จะออกธุดงค์ จะต้องไปขอขึ้นธุดงค์กับท่านและท่านสามารถคุ้มครองพระที่ออกธุดงค์ให้สามารถ เดินทางได้ด้วยความปลอดภัย และหยั่งรู้ทุกขณะด้วยญาณวิถีอันแก่กล้าของท่าน

ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๑๘ พระปลัดทอง อาจารย์ของหลวงปู่บุญก็มรณภาพ ทางอุบาสกอุบาสิกาก็นิมนต์พระอาจารย์แจ้งเป็นเจ้าอาวาสจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๒๘ พระอาจารย์แจ้งซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ หลวงพ่อแก่ ” ก็มรณภาพลงเพราะท่านชราภาพมากแล้ว

ทางอุบาสกอุบาสิกาและกรรมการวัดตลอดจนชาว บ้านที่เห็นการปฏิบัติของหลวงปู่เป็นที่น่าเลื่อมใสจึงได้ร่วมใจกันนิมนต์ ให้ท่าน เป็นเจ้าอาวาสสืบแทน ดังนั้น ทางคณะสงฆ์ซึ่งเห็นชอบด้วย จึงได้แต่งตั้งหลวงปู่บุญให้เป็นเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๙ ขณะนั้นท่านมีอายุพรรษาได้ ๑๖ จึงได้ปกครองดูแลสืบต่อจากพระอาจารย์แจ้งเป็นต้นมา

หลวงปู่บุญเป็นพระที่หนักในทางวิปัสสนา กรรมฐาน ดังนั้นเมื่อได้ปกครองดูแลพระเณรในวัดจึงได้อบรมทั้งทางคันธธุระ และวิปัสสนาธุระให้แก่บรรดาลูกศิษย์ทั่วไปซึ่งก็ปรากฏว่ามีฆราวาสจำนวนมาก ให้ความสนใจเข้ามาเรียนวิปัสสนากับท่านจำนวนไม่น้อย จนภายหลังหลวงปู่ได้จัดสถานที่สำหรับฝึกสอนวิปัสสนาขึ้นโดยเฉพาะเป็นศาลาทรง แปดเหลี่ยมขนาดใหญ่อยู่หน้าวัดแถบด้านเหนือใกล้แม่น้ำ ซึ่งในสมัยนั้นนับว่ามีทำเลมีเหมาะสม เพราะใกล้แม่น้ำลมพัดเย็นสบาย ศาลาดังกล่าวนี้ได้มีสืบมาจนถึงทุกวนนี้

ภารกิจที่หลวงปู่เคร่งครัดปฏิบัติมิได้ขาด จวบจนชราภาพ คือ การลงกระทำอุโบสถทุกวันเช้าและเย็นและหลังจากเสร็จจากบทสวดมนต์แล้วท่านจะทำ การหยิบยกข้อธรรมขึ้นมาแจกแจงอธิบายในพระอุโบสถ เพื่อให้พระภิกษุและสามเณรมีความเข้าใจที่ถูกต้อง เว้นแต่ในช่วงที่ท่านต้องไปธุรกิจที่อื่นเท่านั้น ท่านก็จะมอบให้พระอื่นทำหน้าที่แทนก่อน กิจวัตรข้อนี้สิบต่อมาจนกระทั่งหลวงปู่เพิ่มก็ได้ปฏิบัติตาม จนภายหลังหลวงปู่เพิ่มชราภาพมากท่านจึงได้แต่สวดมนต์อยู่แต่เฉพาะในกุฏิของ ท่าน

ด้วยความสามารถ ซึ่งเอกอุดมด้วยกฤตยาคม และอำนาจญาณอันแก่กล้าของหลวงปู่ท่านสามารถคลี่คลายอธิกรณ์ ซึ่งเกิดขึ้นในคณะสงฆ์ปกครองได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่มีพระภิกษุ สามเณรองค์ใดกล้ากล่าวเท็จกับท่าน เมื่อท่านเรียกเข้ามาสอบสวนทวนความ การให้การจะเป็นจริงทุกสิ่งอัน นอกจากนั้น ตบะเดชะของท่ายังเร้นไว้ด้วยอำนาจอันเข้ม คนรุ่นเก่ายุคนั้นเล่าลือกันสืบมาจนทุกวันนี้ว่า ไม่มีใครเลยที่กล้าสบตากับท่านได้ ทั้งนี้โดยแท้แล้วท่านไม่ใช่เป็นคนดุ แต่ท่านมีเมตตาธรรมใจคอเอื้อเฟื้อกว้างขวาง เพียงแต่อำนาจและตบะของท่านโดยแท้ที่แก่กล้า

ด้วยคุณงามความดี และปรีชาสามารถของหลวงปู่ จึงได้รับพระราชทานพระครูโปรดเกล้าให้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระครูชั้น สัญญาบัตรที่ “ พระครูพุทธวิถีนายก ” และเลื่อนฐานะตำแหน่งการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็น “ ประธานกรรมการคณะสงฆ์จังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี ” เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ ขณะนั้นท่านมีอายุพรรษาได้ ๔๙ พรรษา ในโอกาสนี้เองที่บรรดาศิษย์ได้จัดงานฉลองกันเป็นการใหญ่ ปรากฏว่า สมเด็จพระสังฆราช ( แพ ) ครั้งที่เป็น พระพรหมมุนี ได้มาร่วมงานโดยมี พระครูวินัยกิจโกศล ( ตรี ปธ. ๗ ) เจ้าอาวาสกัลยาณมิตรในครั้งนั้นมาเป็นแม่งาน มีพระภิกษุจากอารามต่าง ๆ ในจังหวัดนครปฐม สมุทรสาครและสุพรรณบุรีมาร่วมงานฉลองศักดิ์หลวงปู่เป็นจำนวนมามาย เล่ากันว่าต้องจัดหาที่พักให้หลายวัดบริเวณใกล้เคียงแน่นเต็มไปหมด แสดงให้ เห็นถึงความศรัทธาเลื่อมใสที่ประชาชนและพระภิกษุสามเณร ในจังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร และสุพรรณบุรีที่มีต่อท่านอย่างท่วมท้น

สานุศิษย์ของหลวงปู่บุญนั้นมีมากมาย ที่ได้ผ่านการอบรมสั่งสอนออกไปบางองค์ก็ครองเพศบรรพชิตอยู่มีชื่อเสียง กิตติคุณโด่งดัง บางคนก็ลาสิกขาออกไปประกอบอาชีพเจริญรุ่งเรืองอยู่จนบัดนี้ก็จำนวนไม่น้อย แต่ก็เป็นการยากที่จะมาลำดับกล่าวไว้ในที่นี้

ครั้นลุถึงวันจันทร์ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๕ ปีชวด ตรงกับวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ เวลาเช้ามีชาวบ้านมาทำบุญถวายอาหารหลวงปู่บุญเป็นอันมากเพราะเป็นวันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ หลวงพ่อวงษ์ วัดเสน่หา ได้มาเยี่ยมท่านแต่เช้าและหลวงปู่ออกรับประเคนเรียบร้อยแล้วจึงเริ่มฉัน อาหารเมื่อฉันอาหารเสร็จจึงเข้ากุฏิทำการสวดมนต์ต่อหน้าที่บูชาซึ่งท่าน ปฏิบัติอยู่เป็นประจำ แต่แปลกตรงที่ว่าเมื่อท่านสวดมนต์แล้วท่านกลับมานั่งสมาธิต่ออีกเป็นเวลานาน คล้ายจะปลุกเสกอะไรสักอย่าง หลวงปู่เพิ่มเล่าว่าธรรมดาท่านจะนั่งตอนกลางคืนหรือในพระอุโบสถ แต่วันนั้นท่านนั่งที่หน้าโต๊ะพระเป็นเวลานานเมื่อออกจากวิปัสสนาแล้วท่าน ได้เรียกหลวงปู่เพิ่มเข้าไปบอกว่ามีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง หลวงปู่เพิ่มบอกว่าจะไปนำยามาถวายท่าน ท่านว่าไม่ต้อง จากนั้นท่านก็มีอาการคล้ายถ่ายท้องแล้วเรียกหลวงปู่เพิ่มเข้าไปหายังที่จำ วัดพร้อมกับหลวงพ่อวงษ์ บอกให้หลวงพ่อวงษ์จุดเทียนที่โต๊ะบูชาพระ หลวงพ่อวงษ์ก็พยายามจุดเทียนทั้งคู่พอเทียนติดก็พลันก็ลมกรรโชกมาทำให้เทียน ดับ หลวงพ่อวงษ์ก็จุดใหม่ลมก็กรรโชกมาดับทั้งสามครั้งเมื่อจะจุดครั้งที่สี่นั่น เองท่านก็โบกมือห้ามเอาไว้ จากนั้นท่านก็ประสานมือทั้งสองข้างไว้บนหน้าอก ละทิ้งสังขารไปอย่างสงบเฉกเช่นผู้ล่วงความทุกข์ทั้งมวลทิ้งปริศนาเอาไว้ว่า เทียนที่จุดไม่ติดทั้งสามครั้งนั้นคือสังขารมีมาถึงจุดดับไม่มีสิ่งใดจะห้าม ได้ ขณะที่ท่านทิ้งสังขารเป็นเวลา ๑๐.๔๕ น. พอดี
อำนาจญาณ
สมเด็จ พระมหาสมณเจ้าฯ ทรงแปลกพระทัย ในระหว่างตรวจการคณะสงฆ์ได้รับสั่งให้พระที่ติดตามเสด็จรูปหนึ่งรีบเดินทาง เข้ากรุงเทพฯ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงของคำพยากรณ์อันนี้ เมื่อพระรูปนั้นเดินทางไปถึงพระตำหนัก ได้ไต่ถามพระที่ตำหนักดูมิได้มีองค์ใดทราบ จึงได้เปิดตำหนักสำรวจก็ได้เห็นสภาพความจริงตรงกับที่หลวงปู่บุญพยากรณ์ได้ ทั้งเวลาที่เกิดพายุและจำนวนแผ่นกระเบื้องที่แตกอย่างน่าอัศจรรย์ จึงเดินทางกลับไปกราบทูลให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงทราบทุกประการ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงอุทานด้วยความประหลาดพระทัย และตรัสสรรเสริญหลวงปู่ ว่าสามารถล่วงรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสถานที่ไกล ๆ ได้แม่นยำหลังจากครั้งที่แล้ว เมื่อหลวงปู่บุญมาธุระที่กรุงเทพฯ คุณครูหลอม  ตรีเนตร ศิษย์ใกล้ชิดหลวงปู่เล่าว่ามักจะมาแวะพักที่วัดบวรนิเวศเสมอ และอยู่สนทนากับสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ครั้งละหลายวัน
กฤดานุภาพ
เมื่อครั้งที่หลวงปู่เพิ่มมีชีวิตอยู่ได้เคยเล่าให้ผู้ เขียนฟังอยู่เสมอในเรื่องความสัมพันธ์ของพระองค์เจ้าอาทิตย์ ทิพอาภา ที่เสด็จมาเยี่ยมหลวงปู่บุญ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็น ประชาธิปไตย โดยคณะราษฎร์นั้นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการปฏิวัติ และได้มีการส่งคณะผู้แทนของคณะราษฎร์เดินทางไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า เจ้าอยู่หัวซึ่งทรงแปรพระราชฐานประทับแรมอยู่ ณ พระที่นั่งไกลกังวล หัวหิน โดยออกเดินทางด้วยรถไฟขบวนพิเศษ

ในขณะนั้น พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงประจำเมืองนครปฐม เมื่อทราบข่าวดังกล่าว ก็ทรงสั่งการให้นักเรียนนายร้อยตำรวจ ซึงในครั้งนั้นมีสถานที่ตั้งอยู่ที่ห้วยจระเข้ นครปฐม วางกำลังยับยั้งขบวนรถไฟพิเศษนี้ไว้ที่สถานีนครปฐม เมื่อขบวนรถไฟพิเศษแล่นถึงสถานีต้นสำโรง คณะผู้แทนได้ทราบว่ามีการวางกำลังอยู่ที่สถานีนครปฐม จึงได้เดินทางกลับไปยังกรุงเทพฯ แล้วเปลี่ยนการเดินทางไปทางทะเล โดยใช้เรือรบหลวงสุโขทัยเป็นพาหนะได้เข้าเฝ้าในหลวงได้สำเร็จและถวายเอกสาร สำคัญให้ทรงลงพระปรมาภิไธย

ครั้นเมื่อคณะราษฎร์ได้ยึดอำนาจสำเร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้สั่งการให้ข้าหลวงประจำจังหวัดนครปฐมเข้ามารายงานตัวในกรุงเทพฯ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงวิตกกังวลพระทัยเป็นอย่างยิ่ง เกรงว่าจะถูกประทุษกรรมนานาประการ จึงได้รำลึกนึกถึงหลวงปู่ วัดกลางบางแก้วที่ทรงศรัทธาเลื่อมใสเสมอขณะที่อยู่ในเมืองนครปฐม คิดจะไปขอบารมีกฤตยาคมของหลวงปู่เป็นที่พึ่ง จึงเดินทางในเวลาดึกสงัดของคืนนั้นโดยเรือเร็วมาตามคลองเจดีย์บูชา แล้วเลี้ยวขวาออกแม่น้ำนครชัยศรีถึงวัดกลางบางแก้ว เข้ามนัสการหลวงปู่บุญเล่าความหวั่นวิตกกังวลพระทัยให้หลวงปู่ทราบ เพื่อขอให้ชี้ทางแก้ไข

หลวงปู่จึงได้ทำสมาธิบริกรรมพระเวทย์ทำพิธีรถน้ำพระพุทธ มนต์ถวาย แล้วถวายพระเครื่องตลอดจนมงคลวัตถุให้แก่พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาและ ประสาทพรว่า “ ไม่ต้องวิตกกังวลใด ๆ เรื่องที่ร้ายจะกลายเป็นดี ”

เล่ากันว่าพระเครื่องที่หลวงปู่ถวายในครั้งนั้นคือ พระผงคลุกรักพิมพ์สะดุ้งกลับ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการกลับร้ายให้เป็นดีนั่นเอง หลวงปู่เพิ่มเคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า การสร้างพระสะดุ้งกลับ ( มาวิชัยกลับ ) ของหลวงปู่บุญนั้น การปลุกเสกจะใช้พระพุทธมนต์ถอยหลังกลับ การเดินลมปราณผ่านกระแสจิตทำได้ยากกว่าการปลุกเสกธรรมดา และหากจิตไม่เข้มขลังแก่กล้าจะเป็นอันตรายในการปลุกเสกต่อผู้ปลุกเสกเอง พระปางสะดุ้งกลับของหลวงปู่หลายพิมพ์มิได้สร้างสะดุ้งกลับเพียงรูปแบบเฉพาะ พิมพ์ทรงเท่านั้น หากแต่ท่านสร้างตามลำดับแบบฉบับที่เป็นเฉพาะอิทธิวิธีที่ท่านมีอยู่ นับเป็นพระเครื่องที่มีกฤตยาคมลึกล้ำซึ่งหลวงปู่ได้สร้างขึ้นไว้

หลังจากพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาได้รับน้ำพระพุทธมนต์ และพระเครื่องจากหลวงปู่บุญแล้วได้ลากลับไปด้วยความมั่นพระทัย เมื่อเดินทางไปกรุงเทพฯ หลังจากรายงานพระองค์แล้วได้รับการกักพระองค์ เพื่อสอบสวนจากรายงานพระองค์แล้วได้รับการกักพระองค์ เพื่อสอบสวนจากคณะเปลี่ยนแปลงการปกครองในระยะเวลาหนึ่งจึงได้รับการปล่อยให้ เป็นอิสระ เพียงไม่กี่วันจากนั้นรัฐบาลใหม่ก็สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ ในรัชกาลที่ ๘ ดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

เพียงไม่กี่วันที่ได้รับการสถาปนาพระองค์ ได้เสด็จมาหาหลวงปู่บุญพร้อมถวายเครื่องสักการะหลายสิ่ง รวมทั้งโต๊ะหมู่บูชาประดับมุกลวดบายงดงามซึ่งมีอยู่ถึงทุกวันนี้ ทั้งได้อุปถัมภ์วัดกลางบางแก้วเป็นอันมาก เสด็จมาเยี่ยมดูแลทุกข์สุขหลวงปู่เป็นเนืองนิตย์ตราบจนหลวงปู่มรณภาพ
เบี้ยแก้
“เบี้ยแก้” ของหลวงปู่บุญนั้นนับว่าเป็นของขลังที่มีกิตติคุณลือกะฉ่อน ในด้านประสบการณ์และอภินิหารมากอย่างหนึ่ง และดูเหมือนเป็นมงคลวัตถุที่มีผู้นำไปใช้มากที่สุดก็ ว่าได้ เพราะในยุคนั้น จะมีบรรดาชาวบ้านขอให้ท่านทำให้จำนวนไม่น้อย คนนครชัยศรีถ้าบ้านไหนมีลูกชาย ลูกสาวจำนวนเท่าใด ก็มักจะขอให้หลวงปู่ทำเบี้ยแก้ให้จำนวนเท่ากับบุตรที่มี เพื่อมอบให้ลูกหลานไว้ใช้ ทั้งนี้เพราะเชื่อมั่นในพุทธคุณเบี้ยแก้ ของหลวงปู่บุญมาก และเป็นมงคลวัตถุที่หวงแหนกันไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเม็ดยาวาสานาหรือยาจินดามณี ซึ่งเป็นยาช่วยชีวิต หากไม่จำเป็นจริง ๆ ก็ไม่ให้กันง่าย ๆ ดังนั้น ผู้ที่แสวงหาจึงควรตระหนักไว้ในข้อนี้ด้วย มิใช่จะได้กันมาง่าย ๆ พึงระมัดระวัง เพราะของปลอม มีระบาดกลาดเกลื่อน

วิชาเบี้ยแก้ ของหลวงปู่บุญนั้น เป็นที่ไขว้เขวกันมาก บางคนเข้าใจกันว่า หลวงปู่บุญศึกษาจาก หลวงปู่รอด บางคนก็เข้าใจว่า หลวงปู่บุญและหลวงปู่รอด วัดนายโรงศึกษาจากหลวงปู่แขก ชีปะขาว นอกจากนี้ยังมีตำนานเล่าว่าหลวงปู่บุญได้วิชาจากหลวงปู่แขก วัดบางบำหรุซึ่งได้วิชาเบี้ยแก้จากพวกโจรที่มานอนใต้ถุนกุฏิของท่านได้ยิน พวกโจรคุยกันถึงอานุภาพของปรอทใส่ไว้ในเบี้ย ท่านจึงสนใจขอศึกษาวิชานี้ไว้จากพวกโจร แต่จากเรื่องเล่าลือหลายกระแสนี้ ก็นับว่ามีประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าได้มาก

หลวงปู่แขก วัดบางบำหรุ อดีตเป็นเจ้าอาวาสรุ่นก่อนเก่าของวัดบางบำหรุ จากปากคำของ พระครูธรรมวิจารณ์ ( ชุ่ม ) อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีสุดาราม บางกอกน้อยซึ่งเล่าความให้ฟัง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ขณะอายุได้ ๙๗ ปี พรรษาได้ ๗๑ นั้นกล่าวว่า หลวงปู่แขก วัดบางบำหรุ เป็นพระที่มาจากนครชัยศรี หลวงปู่รอด วัดนายโรง เล่าให้ท่านฟังว่าได้ศึกษาวิชาเบี้ยแก้จากหลวงปู่แขกซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัด บางบำหรุ ขณะที่หลวงปู่แขกมาอยู่วัดบางบำหรุนั้น ท่านอยู่ในสมณเพศและท่านธุดงค์มาจากนครชัยศรี พื้นเพเดิมท่านเป็นชาวอยุธยา เป็นสหายกันกับพระปลัดปานวัดตุ๊กตา และพระปลัดทองวัดกลางบางแก้ว ส่วนท่านธุดงค์จะมาจากวัดตุ๊กตาหรือคงคาราม ( วัดกลางบางแก้ว ) นั้นไม่ทราบแน่ชัด ส่วนหลวงปู่บุญนั้นท่านพระครูธรรมวิจารณ์ ( ชุ่ม ) เล่าว่าวิชาการต่าง ๆ นั้น ได้ศึกษาจากทั้งพระปลัดปานวัดตุ๊กตาอันเป็นองค์อุปัชฌาย์ของท่าน และพระปลัดทองอันเป็นอาจารย์โดยตรงของท่านที่วัดกลางบางแก้ว

สำหรับหลวงปู่แขก ชีปะขาวนั้น พลเรือนตรี เสนาะสมิตะเกษตรริน ร.น. ได้ทราบจากนายห้อย ลูกชาย ตากัน ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับ หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ ตากันผู้นี้เป็นผู้มีชื่อเสียงว่า มีวิชาอาคมเก่งกล้า เคยเป็นโจรสลัดแล้วภายหลังกลับตนเป็นคนดี ตั้งบ้านเรือนอยู่ อ่าวตากัน พลเรือตรีเสนาะสมิตตะเกษตรริน ร.น. ได้เล่าให้พันเอก ( พิเศษ ) ประจญกิติประวัติฟังว่า นายห้อยซึ่งเป็นศิษย์ใกล้ชิดของหลวงพ่ออี๋เล่าว่า หลวงพ่ออี๋ท่านได้ศึกษาวิทยาทำปลัดขิกมาจากหลวงปู่แขก ซึ่งเป็นชีปะขาว ผู้เรืองวิทยาคุณมาก หลวงปู่แขก ไม่มีครอบครัวหรือถิ่นฐานบ้านเรือนเป็นที่พำนักหลักแหล่ง คือเป็นอนาคารริกร่อนเร่พเนจรไปในที่ต่าง ๆ เรื่อย ๆ ไป ในลักษณะคล้ายคนร้อนวิชา เคยมาพักอยู่กับหลวงพ่ออี๋ที่วัดสัตหีบ ในสมัยที่หลวงพ่ออี๋ยังไม่ได้เป็นเจ้าอาวาส นายห้อยได้เล่าคุณธรรมหลวงพ่ออี๋ที่เกี่ยวกับหลวงปู่แขก ประการหนึ่งว่า หลวงพ่ออี๋ปฏิบัติกับหลวงปู่แขกผู้เป็นอาจารย์ด้วยกตัญญูกตเวทีธรรมอันดี เป็นที่เลื่องลือกันมาจนทุกวันนี้ เช่น ท่านบิณฑบาตได้อาหารมาก็จะเอามาแบ่งให้หลวงปู่แขกรับประทานเสียก่อนทุกวัน

จากข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ พอจะอนุมานได้ว่า การศึกษาวิชาเบี้ยแก้ของหลวงปู่บุญนั้นมีข้อยุติที่ว่า ท่านได้ศึกษามากับพระปลัดทองและพระปลัดปานอาจารย์ ของท่านนั่นเองส่วนเบี้ยแก้ของปู่รอดวัดนายโรงนั้น หลวงปู่รอดท่านก็ได้ศึกษาจากหลวงปู่แขกวัดบางบำหรุ และวิชาเบี้ยแก้ทั้งของหลวงปู่แขก วัดบางบำหรุ พระปลัดทอง วัดกลางบางแก้ว พระปลัดปาน วัดตุ๊กตา นั้นย่อมจะเป็นวิชาที่เหมือนกัน ด้วยทั้งสามท่าน เป็นสหายกันมาก่อน หรืออาจเป็นศิษย์ร่วมสำนักเดียวกันได้

ดังนั้น ลักษณะเบี้ยแก้ ตลอดจนกรรมวิธีการทำของหลวงปู่บุญ และหลวงปู่รอด จึงมีความเหมือนกันมากจนแทบจะแยกไม่ออก นอกจากดูลักษณะการถักหุ้มภายนอกเท่านั้นเอง
ประวัติหลวงปู่บุญ

ตำรับแห่ง “ ยาจินดามณี ” เป็นตำรับที่ตกทอดมาถึงหลวงปู่บุญเป็นตำรับคู่มากับวัดกลางบางแก้ว นับเป็นตำรับเก่าแก่เล่ากันว่าเป็นตำรับของสมเด็จพระพนรัตน์วัดป่าแก้ว แห่งกรุงศรีอยุธยา ฉบับที่มาอยู่วัดกลางแก้วเป็นตำรับสมุดข่อย ลงทองล่องชาดกล่าวเอาไว้ถึงกรรมวิธีการสร้างที่พิสดารและอานุภาพอัศจรรย์ อย่างยิ่ง

ก่อนอื่นขอความเข้าใจเป็นเบื้องต้นก่อนว่า “ ยาจินดามณี ” หรือ “ วาสนา ” นี้ชื่อเดิมตามตำรับนั้นเรียกว่า “ ยาจินดามณี ” และหากสังเกตสักเล็กน้อยจะเห็นว่าเป็น “ ยา ” ซึ่งในตำราได้กล่าวไว้ว่า ประกอบด้วยสมุนไพรอันมีคุณค่าทาง “ ยา ” ในตัวเองอยู่หลายอย่างหลายชนิดประกอบกันเข้าด้วยกรรมวิธีซึ่งใช้กระแสจิต ปลุกเสกด้วยอาคม และมีการเคล้าคลุกการตามขั้นตอนตามพิธีการที่กำหนดจึงจะบังเกิดเป็น “ ยาจินดามณี ”

“ ยาจินดามณี ” เป็นยาที่ทรงคุณวิเศษในทางบำบัดรักษาโรคร้ายนานาชนิดตลอดจนโรคอันเกิดจาก “ เคราะห์กรรม ” บันดาลให้เคลื่อนคลายหายและทุเลาเบาบางลงไป แม้กระทั่งยามจะสิ้นลมก็ยังมีโอกาสสั่งเสียบอกเล่าได้ ด้วยคุณวิเศษดังกล่าวนี้เอง เมื่อผู้ใดมีอยู่ หรือได้กินก็จัดว่าเป็นผู้มีวาสนาเพราะเป็นของทำยากหายากจึงเรียกกันว่า “ ยาวาสนา ” ซึ่งเป็นคำยกย่องเรียกกันภายหลังตามกิตติคุณอันวิเศษของ “ ยาจินดามณี ”

“ ยาก็คือยา ” การสร้างของหลวงปู่บุญในเรื่อง “ ยาจินดามณี ” นี้ ท่านสร้างขึ้นด้วยเจตจำนงหรือมีความประสงค์จะสร้างให้เป็น “ ยา ” ข้อนี้เป็นเป้าหมายสำคัญหรือหลักแห่งการสร้างอันสำคัญยิ่ง ดังนั้นจึงพบได้ว่า “ ยาจินดามณี ” ส่วนใหญ่จะเป็นเม็ดกลม ๆ จากการปั้นเพื่อเป็น “ ยา ” สำหรับกิน แต่ก็มีอุปเท่ห์กล่าวไว้ว่าหากใช้ติดตัวก็เป็นเมตตามหานิยมหรืออมไว้ในปากก็เป็นเสน่ห์ในการพูดจา การปั้นเป็นเม็ดกลมเพื่อวัตถุประสงค์ในอุปเท่ห์หลังนี้ก็จัดเป็นของขลังคือ “ ลูกอม ” ได้เหมือนกัน

ยา จินดามณีส่วนใหญ่ที่สร้างจึงเป็นเม็ดกลม ๆ เสียเป็นส่วนมาก ส่วนที่เป็น “ องค์พระ ” ซึ่งเป็นพระเครื่องนั้นก็มีอยู่บ้างแต่เป็นส่วนน้อย เกิดขึ้นจากการที่ศิษย์ของหลวงปู่ซึ่งร่วมพิธีทำยาอยู่ด้วย เอาแม่พิมพ์พระซึ่งมีอยู่กับวัดซึ่งหลวงปู่ใช้ทำพระเนื้อดิน เนื้อว่าน เนื้อผง องค์เล็ก ๆ มากดพิมพ์เป็นพระเครื่องกันเอาไว้โดยเลือกเอาพิมพ์เล็ก ๆ เพราะจะได้ไม่เปลืองยา มิได้จัดเป็นพิมพ์พิเศษเฉพาะเนื้อยาจินดามณีแต่ประการใด

“ยาจินดามณี” เป็นยาที่หลวงปู่สร้างขึ้นชนิดหนึ่งเพราะท่านเป็นผู้ชำนิชำนาญในทางสมุนไพร ใบยาและการแพทย์แผนโบราณสมัยนั้นใครเจ็บไข้ได้ป่วยก็มักจะมาขอความเมตตาจาก ท่านในเรื่องยา นอกจากยาจินดามณีแล้ว ยังมียาที่ทรงคุณเป็นที่เลื่องชื่อของท่านอีกขนานหนึ่ง คือ “ยาวิเศษอนันตคุณ” ยาขนานนี้ท่านก็ประกอบขึ้นเก็บไว้เป็นประจำ เมื่อมีชาวบ้านเดือดร้อนด้วยโรคภัย ท่านพิจารณาว่าควรใช้ยาชนิดไหนท่านก็มอกให้ไป โดยเฉพาะ “ยาวิเศษอนันตคุณ” ซึ่งใช้แก้โรคต่างๆ ได้หลายโรค ท่านมักจะมีไว้ไม่ขาด

ดังนั้นนอกจากยา “ยาจินดามณี” แล้ว ท่านจะประกอบยาต่าง ไว้อีกหลายขนาน เป็นต้นว่า “ยารัตนวาโย” “ยาวิเศษอนันตคุณ” “ยาหอมเทพจิต” ล้วนแต่เป็นยาที่ประกอบด้วยสมุนไพรเป็นหลักทั้งสิ้น ท่านประกอบไว้ก็เพื่อช่วยสงเคราะห์ชาวบ้านในทางโรคภัยไข้เจ็บเพราะสมัยก่อน การแพทย์ยังไม่เจริญเหมือนสมัยนี้ ใครเจ็บป่วยมักจะไปหาพระที่ตนนับถือ เพื่อขอให้เป็นที่พึ่งพระเถระในยุคนั้น ถ้าเป็นเจ้าอาวาสก็มักจะต้องมีรอบความรู้ทางด้านสมุนไพรใบยาเอาไว้เพื่อช่วย สงเคราะห์ชาวบ้านนั่นเอง

กรรมวิธีการสร้าง ประกอบด้วยวิธีกรรมและเครื่องยา แยกเป็นสองส่วน ส่วนที่เป็นเครื่องยานั้นตามตำรับยาพรรณนาเอาไว้อย่างกว้างๆ ในเบื้องต้นของของตำราว่า

“จินดามณีโอสถพิพาสประกอบดอกคราด ดอกจันทน์เกสรบุษบัน เปราะหอมกำยาน โกฐสอ โกศเขมาทองน้ำประสาน เปลือกกุ่มชลธาร กรุงเขมาเท่ากัน ผสมแล้วตำบดพิมเสน ชะมด น้ำผึ้ง รวงรัน กฤษณา น้ำมะนาว น้ำมะเขือ ขื่ขดั้น ผสมยาเข้าด้วยกัน บดปั้นตากกิน เป้นยาวาสนา เลิศล้ำตำราในโลกแผ่นดิน อุปเท่ห์กล่าวไว้ ผู้ใดได้กิน จะสวัสดิ์โสภิณกว่าคนทั้งหลาย พัสดุ เงินทอง จักพูนกูลนอง กว่าโลกหญิงชายนำมาบูชาอหิวาต์ก็วิวาย ระงับอันตราย ทั้งสี่กิริยา โทษหนักเท่าหนัก มาตรแม้นประจักษ์ถึงกาลมรณา ถ้าแม้นใครกินซึ่งยาวาสนากลับน้อยถอยคลาเคลื่อนคลายหายเอย ”

นอกจากนี้ยังได้แยกเครื่องยาไว้อย่างละเอียดว่าสมุนไพร ชนิดใดจะเอาส่วนไหนประกอบกับอะไร บดเป็นผงละเอียด เคล้ากับตัวประสาน สมุนไพรนั้นมีมากมายหลายชนิด แยกออกเป็นสัดส่วนว่าส่วนไหนใช้เท่าใดและให้ลงหรือเสกด้วยคาถาอย่างไรบ้าง เมื่อปลุกเสกเครื่องยาแต่ละส่วนตามคาถาที่กำกับแล้วก็เอาเครื่องยามาประสม กันมีคาถาฤาษีประสมยาประกอบไว้อีกโสตหนึ่ง ในเรื่องสัดส่วนของสมุนไพร ตลอดจนสมุนไพร นอกจากที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้นนั้น และพระคาถากำกับการเสกสมุนไพรมากมายหลายบท ผู้เขียนจะเว้นที่จะกล่าวถึงเพื่อรักษาตำรับของยาคู่ สำนักวัดกลางบางแก้วเดาไว้เพื่อเป็นของเฉพาะวัดกลางบางแก้วเป็นประเพณีสืบไป

จากนั้นท่านได้แจกแจงรายละเอียดเอาไว้ในส่วนการลงลูกหิน และแม่หิน ซึ่งจะใช้บดยาว่าแม่หินจะต้องลงอักขระเลขยันต์ชนิดหนึ่ง ลูกหินตัดบดจะต้องลงอักขระเลขยันต์อีกแบบหนึ่ง และมีคาถาประกอบขณะบดยาเพื่อให้ภาวนาบริกรรมขณะบดยาด้วย

การจัดพิธี ท่านให้เลือกเอาวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ กลางเดือน ๑๒ ซึ่งหากปีใดได้ราชาฤกษ์ หรือเพชรฤกษ์จัดว่าดีเยี่ยม ให้จัดเครื่องสังเวยเทวดา บัตรพลีต่าง ๆ รวมทั้งราชวัตรฉัตรธง ภายในพระอุโบสถและมีสายสิญจน์รอบพระอุโบสถแต่ละทิศให้ลงยันต์ประจำทิศด้วย ผ้าแดงเอาไว้ ด้านหน้าพระอุโบสถให้ลง ยันต์ตรีนิสิงเห และยันต์จินดามณีประกอบไว้เป็นพิเศษด้วย เมื่อได้ฤกษ์ให้ชุมนุมเทวดา แล้วให้พระภิกษุ และฆราวาสที่ร่วมพิธีพร้อมกันโดยเฉพาะฆราวาสนั้น หากเป็นหญิงให้ใช้สาวพรหมจารีซึ่งรักษาศีลอุโบสถมาแล้ว ๓ วัน ส่วนชายก็ให้รักษาศีลอุโบสถเช่นเดียวกัน

ผู้ร่วมพิธีปั้นเม็ดยาจะต้องท่องคาถาปั้นเม็ดยาได้ เพื่อใช้ภาวนาตลอดระยะเวลาการปั้นเม็ดยา และยาที่ปั้นสำเร็จเป็นเม็ดในพิธีแล้วจะต้องนำไปปลุกเสกด้วยมนต์อีกอย่าง น้อย ๗ เสาร์ ๗ อังคาร

ตลอดชีวิตของหลวงปู่บุญ มีการสร้างยาจินดามณีเท่าที่สืบได้เพียง ๒ ครั้งเท่านั้น โดยญาติโยมได้ร่วมกันออกทุนซื้อหาเครื่องยามาถวายแล้วหลวงปู่จึงได้ทำพิธี สร้างขึ้น ครั้งหลังมี ครูหลอม ตรีเนตร เป็นกำลังสำคัญในการหาเครื่องยาและรวบรวมสมุนไพรให้หลวงปู่สร้างก่อน ท่านมรณภาพประมาณ ๒ ปี คือ ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ในครั้งนี้เล่าว่าผู้ได้ยาไปมากคือ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ส่วนครั้งแรกนั้น สร้างห่างกันนานคาดว่าประมาณปี พ.ศ. ๒๔๓๕ หลังจากหลวงปู่บุญเป็นเจ้าอาวาส ๖ ปี

เม็ดยาที่สร้างครั้งแรกสังเกตว่าเม็ดค่อนข้างเล็ก เนื้อละเอียดมาก มีความแข็งตัว เนื้ออกสีน้ำตาบเข็มบ้างอ่อนบ้าง ข้อนี้ผู้เขียนได้พบในขวดโหลที่เหลือตกทอดมาที่หลวงปู่เพิ่ม

ส่วนที่สร้างครั้งหลังเนื้อหยาบว่าครั้งแรกเล็กน้อยแต่มี ความเข้มมากเช่นกัน สังเกตสีค่อนข้างจะดำคือน้ำตาลเข้มจนเกือบดำและขนาดเม็ดเฉลี่ยแล้วใหญ่กว่า การสร้างครั้งแรก ข้อนี้ผู้เขียนสังเกตจากยาที่เหลือตกทอดมาที่คุณลุงซ้ง ทยาพัชร ซึ่งได้มามากในครั้งนี้

“ ยาหลวงปู่แท้ ค้อนทุบไม่แตก ” ความจากคำพูดนี้เป็นการกล่าวกันของบรรดาศิษย์รุ่นเก่าแก่ของหลวงปู่ซึ่งพูด กันมาก หมายถึงว่า เม็ดยาจะต้องแข็งมาก ขนาดค้อนทุบแล้วไม่แตก แต่จะกระดอนกระเด็นไป ส่วนนี้ผู้เขียนได้เคยพิสูจน์มาครั้งเมื่อใกล้สิ้นชีวิต คุณลุงซ้ง ทยาพัชร เอายาจินดามณีมาให้ท่านกิน ผู้เขียนได้เป็นคนช่วยเอายามาฝนกับฝาละมี ฝานอยู่นานยาจึงสึกออกเจือกับน้ำกระสายเพียงเล็กน้อย แสดงว่ามีเนื้อแน่นและแข็งมาก ส่วนที่ว่าค้อนทุบไม่แตกนั้นผู้เขียนยังไม่เคยทดลอง ใครอยากรู้ว่าจริงหรือไม่ก็ทดลองกันเอาเองเถอะ
วัดกลางบางแก้วตำบลนครชัยศรี
อำเภอนครชัยศรี  จังหวัดนครปฐม  ริมแม่น้ำท่าจีน
© 2019 Copyrigth. Watkbk.com All rigths reserved.